การรับประทานยาที่ถูกต้อง

ยา

หากว่ากันด้วยเรื่องของ “ยารักษาโรค” แล้วหล่ะก็…หลายๆ ท่านคงนึกถึงการรักษาโรคต่างๆ และการดูแลสุขภาพของตนเองให้ห่างไกลจากความเจ็บป่วยกันอย่างแน่นอนครับ ซึ่งท่านทราบกันหรือไม่ว่า “การรับประทานยา” มีวิธีการที่ถูกต้องและปลอดภัยอยู่ครับ การที่เราไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำในการทานยานั้น….อาจส่งผลเสียกับร่างกายของเราได้ครับ บทความนี้จึงขอพาทุกๆ ท่านไปพบกับ “วิธีการรับประทานยาที่ถูกต้อง” กันครับ

ทำความรู้จักกับยารักษาโรค

” ยา ” สามารถใช้รักษาทำให้หายป่วยและร่างกายรู้สึกดีขึ้นได้ แต่สิ่งสำคัญที่ควรตระหนักไว้เสมอคือ ยาทั้งหลายล้วนแล้วแต่มีอันตรายเฉกเช่นเดียวกับที่มีคุณประโยชน์ ฉะนั้น ทำอย่างไรจึงปลอดภัยจากการใช้ยา

5 วิธีการรับประทานยาที่ถูกต้อง

1.ยาก่อนอาหาร คือ ยาที่รับประทานก่อนอาหาร ควรรับประทานในช่วงที่ท้องว่าง ยังไม่ได้รับประทานอาหาร ซึ่งก็คือก่อนรับประทานอาหารอย่างน้อย 30 นาที ยกเว้นยาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดบางตัวที่แนะนำให้ทานก่อนอาหารอย่างน้อย 15 นาที

หากเราลืมรับประทานยาก่อนอาหาร ควรข้ามยามื้อที่ลืมไป แต่ถ้าเป็นยาที่รับประทานก่อนอาหารเพราะยาจะถูกทำลายหรืออาหารอาจลดการดูดซึมของยา อาจรอให้กระเพาะอาหารว่างก่อนแล้วค่อยรับประทานยาก็ได้ ซึ่งก็คือประมาณ 2 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร แต่ยาที่ต้องรับประทานในมื้อถัดไปอยู่แล้ว ให้ทานยาก่อนอาหารมื้อถัดไปแทนได้เลย ไม่ต้องทานยาซ้ำ

2. ยาหลังอาหาร คือ ยาที่ควรรับประทานหลังอาหารไม่เกิน 15-30 นาที

หากลืมรับประทานยาหลังอาหาร สามารถรับประทานยาได้ทันทีที่นึกได้และไม่เกิน 15-30 นาที แต่ถ้านึกได้หลังจากรับประทานอาหารมากกว่า 30 นาทีแล้ว ควรรอรับประทานหลังอาหารในมื้อถัดไปแทน หรืออาจรับประทานอาหารมื้อย่อยแทนมื้อหลักก่อนรับประทานยาก็ได้ กรณีที่ยานั้นมีความสำคัญมาก

3.ยาหลังอาหารทันที คือ ยาที่ควรรับประทานหลังอาหารทันที อาจทานพร้อมอาหารหรือก่อนรับประทานอาหารคำแรกก็ได้ เนื่องจากยามีผลข้างเคียงที่สำคัญคือ ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน การรับประทานพร้อมหรือหลังอาหารทันทีจะช่วยลดอาการเหล่านี้ได้

หากลืมรับประทานยาหลังอาหารทันที ควรรอรับประทานหลังอาหารในมื้อถัดไปแทน หรืออาจรับประทานอาหารมื้อย่อยแทนมื้อหลักก่อนรับประทานยาก็ได้ กรณีที่ยานั้นมีความสำคัญมาก

4.ยาก่อนนอน คือ ยาที่แนะนำให้รับประทานก่อนนอนมีหลายประเภท แต่โดยทั่วไป ควรรับประทานก่อนนอน 15-30 นาที

หากลืมรับประทานยาก่อน ควรรอให้ถึงเวลาก่อนเข้านอนในคืนถัดไปค่อยรับประทานยานั้น

5.ยารับประทานเวลามีอาการ คือ ควรรับประทานเมื่อมีอาการ หากไม่มีอาการก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานยา ยาในกลุ่มนี้ มักระบุในฉลากว่ารับประทานทุกกี่ชั่วโมงเวลามีอาการ เช่น ทุก 8 ชั่วโมง หรือทุก 12 ชั่วโมง เวลามีอาการ เป็นต้น เมื่อมีอาการสามารถรับประทานยาได้เลย ไม่ต้องคำนึงถึงมื้ออาหาร เนื่องจากไม่ว่าจะรับประทานอาหารหรือไม่ ก็ไม่ส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หลังรับประทานยาแล้วถ้ายังมีอาการอยู่สามารถทานยาซ้ำได้ ตามระยะเวลาที่ระบุไว้ ไม่ควรรับประทานบ่อยกว่าที่ระบุไว้บนฉลาก เมื่อหายแล้วสามารถหยุดยาได้เลย

ยาสามารถแบ่งออกได้กี่ประเภท

ยา จำแนกตามพระราชบัญญัติยา  5  กลุ่ม ได้แก่

1. ยาสามัญประจำบ้าน  คือ ยาที่กระทรวงสาธารณสุขคัดเลือกไว้ให้ประชาชนสามารถเลือกใช้ได้เอง  หาซื้อได้โดยทั่วไป จะสังเกตได้ว่าจะต้องมีคำว่า “ยาสามัญประจำบ้าน” กำกับไว้บนฉลาก เช่น พาราเซตามอล ยาแก้ไอ เป็นต้น

2. ยาอันตราย คือ ยาแผนปัจจุบันที่มีอันตรายสูงกว่ายาสามัญประจำบ้าน  การใช้ยาประเภทนี้ต้องผ่านการดูแลจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เช่น แพทย์ เภสัชกร ยากลุ่มนี้จะมีคำว่า”ยาอันตราย” ระบุไว้บนฉลากข้างขวดหรือภาชนะที่บรรจุยา

3. ยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จที่มิใช่ยาอันตราย คือ ยาแผนปัจจุบันที่ผลิตขึ้นในรูปแบบต่างๆ ทางเภสัชกรรม มีบรรจุหีบห่อปิดไว้ มีฉลากครบถ้วนและเป็นยาที่กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้จัดให้เป็นยาสามัญประจำบ้าน ยาควบคุมพิเศษ ยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทหรือยาเสพติด  เนื่องจากเห็นว่าเป็นยาที่ค่อนข้างมีความปลอดภัย เช่น ยาแก้ไข้หวัดสูตรผสม และยาที่ใช้ภายนอกที่โฆษณาอย่างแพร่หลาย

4. ยาสมุนไพร คือ ยาที่ได้จากพืช หรือสัตว์ หรือแร่ธาตุที่ไม่ได้นำไปปรุงแต่งใดๆ  เช่น ว่านหางจระเข้ ใบมะขามแขก ตับปลา  ดีเกลือ เป็นต้น

5. ยาแผนโบราณ คือ ยาที่ใช้กันมานานในอดีตเป็นส่วนใหญ่และปัจจุบันยังคงมีใช้อยู่บ้าง  ในปัจจุบันยาที่ใช้รักษาโรคแผนโบราณจะต้องขึ้นทะเบียนเป็นตำรับยาแผนโบราณอย่างถูกต้อง เช่น ยาเขียวหอม ยาธาตุบรรจบ เป็นต้น

และนี้คือข้อมูลกี่ยวกับ “การรับประทานยาที่ถูกต้อง” ที่เราได้หามาฝากทุกๆ ท่านกันครับ เราหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ที่ดีสำหรับทานยาให้กับทุกๆ ท่านกันนะครับ

About the Author

You may also like these